การเรียน Coding เป็นเรื่องใหม่สำหรับพ่อ แม่ และการศึกษาไทย หากจะสรุปความหมายของคำว่า coding แบบสั้นๆ ง่ายๆ การ coding หมายถึง คำสั่งในการสั่งงานด้วยภาษาคอมพิวเตอร์เพื่อสั่งงานอุปกรณ์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั่นเอง  ในปัจจุบัน มีการใช้งาน AI ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น เช่น ไม่ว่าจะใช้งานเป็นเลขาส่วนตัว วาดรูป วางแผนท่องเที่ยว ค้นหาข้อมูลที่เราต้องการ หรือประเภทอุปกรณ์อัจริยะอย่างเครื่องดูดฝุ่น กล้องวงจรปิด ฯ และรวมไปถึงการใช้บริการคอนเทนต์ออนไลน์สำหรับดูหนังและฟังเพลง ต่างๆ เช่น Netflix Prime Video Spotify

จากตัวอย่างที่ยกมา ทำให้เรามองเห็นภาพได้ว่าในอนาคตทักษะ coding มีความจำเป็นมากแค่ไหน หากมองในแง่การฝึกฝนทักษะเพื่อใช้งานอุปกรณ์ หรือบริการก็คุ้มค่าพอที่จะให้ลูกๆ ของเรามีความพร้อมสำหรับโลกยุคใหม่ที่คนในยุคพ่อแม่อย่างเราจิตนาการไม่ออก และหากมองในแง่ความต้องการคนที่มีทักษะ coding ขั้นสูงแล้วถือได้ว่าในอนาคตย่อมเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองอย่างเราๆ คาดหวังคงหนีไม่พ้นว่าในอนาคตลูกของเรามีหน้าที่การงานที่ดี สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีการบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการ coding ลงในหลักสูตรแกนกลางตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 ถึง ม.6 อยู่แล้วแต่จะดีกว่าถ้าสามารถเสริมทักษะการ coding อยู่ที่บ้านได้ในรูปแบบที่เด็กสนุกและไม่เครียดจนเกินไป ในบทความนี้จะให้มุมมองที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรรู้เพื่อเป็นแนวทางในการสอนหรือแนะนำบุตรหลาน ในการเรียน Coding แบบเน้นความสนุกสนานสามารถใช้เป็นกิจกรรมในครอบครัวได้เป็นอย่างดี

แต่ละช่วงวัยควรฝึกอะไร ?

การฝึกทักษะการ Coding จะแบ่งออกเป็น 4 ทักษะ ได้แก่ 1) การแบ่งปัญหาใหญ่ออกเป็นปัญหาย่อย 2)การออกแบบขั้นตอนวิธี(อัลกอริทึม) 3) การพิจารณารูปแบบของปัญหา และ 4) การคิดเชิงนามธรรม ทั้ง 4 ทักษะการคิดมักถูกเรียกรวมว่า การคิดเชิงคำนวณโดยแต่ละช่วงวัยจะมีระดับการฝึกทักษะเหล่านี้ในระดับความลึกที่ไม่เท่ากัน และมีรูปแบบการฝึกอยู่ 2 รูปแบบได้แก่ Plug หมายถึง ฝึกโดยใช้อุปกรณ์ทางคอมพิวเตอร์ และรูปแบบ Unplug หมายถึงการฝึกโดยไม่ใช้อุปกรณ์ทางคอมพิวเตอร์ อาจอยู่ในรูปแบบเกมการ์ หรือบอร์ดเกมต่างๆ ช่วงประถมต้น การฝึกเด็กจะเน้นรูปแบบ Unplug เป็นหลักอาจใช้รูปแบบ Plug ผสมได้บ้างโดยใช้เวลาไม่เกิน 30 – 60 นาทีเพื่อไม่ให้เด็กอยู่กับหน้าจอมากเกินไป เน้นใช้ลองผิดลองถูก ฝึกเปรียบเทียบอย่างง่าย เช่นการเปรียบเทียบปริมาณ อาจฝึกโดยใช้กิจกรรมเช่นการชงน้ำหวาน โดยลองให้เด็กชงโดยกะปริมาณน้ำหวานเอง ลองชิม และปรับเพิ่มลดความหวานเอง เป็นการฝึกเปรียบเทียบปริมาณน้ำหวานแต่ละครั้ง ฝึกการคิดเป็นลำดับขั้นตอนโดยใช้การชงน้ำหวาน และฝึกแก้ปัญหาหากชงออกมาแล้วน้ำหวานมีความหวานไปหรือจืดไป หรืออาจฝึกให้เตรียมของเองเวลาไปเที่ยวข้างนอกบ้านโดยมีผู้ใหญ่คอยแนะนำ ช่วงประถมปลายสามารถเรียนรู้ coding ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นและการฝึกในรูปแบบ Plug มากขึ้นช่วงวัยนี้ผู้ปกครองอาจใช้งานเว็บไซด์ Code.org ซึ่งจะรวบรวมเกมที่เป็นแบบฝึกทักษะการคิดเชิงคำนวณ หรือ Coding ไว้ ช่วงวัยนี้สามารถเลือกฝึกการเขียนโปรแกรมในรูปแบบ Block Programming ได้ เพื่อควบคุมตัวละครให้เดิดหรือวาดรูปตามที่ออกแบบคำสั่งไว้

สอนลูกเรียน Coding

เกมสำหรับฝึกและวัดทักษะการคิดเชิงคำนวณ “นาลู นักสำรวจ”

สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษาได้มีการทำวิจัยโดย ผศ.นิธิวดี พะเทพ และผศ.อังคาร ปริญญาชัยศักดิ์ เพื่อพัฒนาเกมฝึกทักษะการคิดเชิงคำนวณทั้ง 4 ทักษะเพื่อใช้ในการฝึกทักษะการคิดเชิงคำนวณและสามารถวัดระดับการคิดเชิงคำนวณได้ เหมาะสำหรับเด็กช่วงอายุ 11 – 15 ปี ตัวเกมประกอบไปด้วยด่านการเล่นทั้งหมด 13 ด่าน แบ่งเป็นด่านแนะนำการเล่น (Tutorial) ทั้งหมด 3 ด่านและด่านสำหรับการเล่นเพื่อฝึกทักษะการคิดเชิงคำนวณทั้งหมด 10 ด่าน เป้าหมายของการเล่น ผู้เล่นจะต้องบังคับหุ่นยนต์ไปยังประตูมิติเพื่อผ่านไปยังด่านต่อไป โดยจะต้องบริหารพลังงานที่มีอยู่เพื่อเดินทางไปให้ถึงประตูมิติ การบังคับหุ่นสำรวจนาลูจะใช้ปุ่มลูกศร บน ล่าง ซ้าย ขวา ในการเดิน ไม่สามารถเดินผ่านหินหรือป่าได้ การเดิน 1 ช่องจะใช้พลังงาน 1 หน่วย การเริ่มต้นในแต่ละด่านหุ่นสำรวจนาลูจะได้รับพลังงานทั้งหมด 25 หน่วย ในแต่ละด่านหากผู้เล่นเก็บไอเทมพลังงานได้จะได้รับพลังงานเพิ่ม 10 หน่วย โดยตัวเกมได้รับการจดแจ้งลิขสิทธิ์จากกกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทวรรณกรรมลักษณะงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชื่อผลงาน เกมฝึกทักษะการคิดเชิงคำนวณ “นาลูนักสำรวจ” เลขที่จดแจ้ง 430328 สามารถเข้าทดลองเล่นได้ที่ http://ejs.bsru.ac.th/naluproject/

ผู้เขียน :  ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิธิวดี พะเทพ และผู้ช่วยศาสตราจารย์อังคาร ปริญญาชัยศักดิ์