ลูกใต้ใบ
1. ลูกใต้ใบเป็นพืชล้มลุก เป็นสมุนไพรที่มีการใช้ในตำรับแพทย์แผนต่าง ๆ มาเป็นเวลานาน ลูกใต้ใบมี 4 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ขึ้นดีในประเทศไทยได้แก่ Phyllanthus amarus Schum & Thonn.
2. งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับลูกใต้ใบส่วนใหญ่มักทำกับสายพันธุ์ Phyllanthus niruri L. ซึ่งขึ้นดีในแถบเอเชียกลาง
ภาพที่ 1 : ลักษณะทางกายภาพของตำรับครีมสารสกัดลูกใต้ใบทั้ง 3 สูตรที่วิจัยพัฒนา (A) เนื้อครีมสารสกัดสูตร A (B)
3. สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมีดังนี้
3.1. ฤทธิ์ต้านตับอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ : ลูกใต้ใบสายพันธุ์ P. amarus มีผลยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส HBV จึงมีส่วนช่วยลดขบวนการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อได้ (อัจฉรา นิยมเดชา และคณะ, 2556) และจากการศึกษาผลของลูกใต้ใบในเซลล์ตับที่ติดเชื้อแล้วพบว่า สามารถช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวหลังการติดเชื้อผ่านหลายกลไก ได้แก่การยับยั้งเอนไซม์ HBV DNA polymerase การยับยั้งขบวนการถอดรหัสสารพันธุกรรมไวรัส มิให้ไวรัสแบ่งตัวได้ ร่วมกับฤทธ์ต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเนื้อเยื่อตับจากความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ช่วยกระตุ้นกลไกการซ่อมแซมตัวเองของเซลล์ตับ ซึ่งกลไกที่พบนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของ Bhattacharjee และคณะที่พบว่าสารสกัดลูกใต้ใบส่งเสริมขบวนการฟื้นฟูตนเองของเซลล์ตับหลังบาดเจ็บเสียหายจากพิษของ CCl4 (Bhattacharjee et al., 2006) นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ที่รับประทานสารสกัด P. amarus มีระดับการทำงานของตับ (Liver Function Tests) และไตที่ดีขึ้น ผ่านกลไกการต้านอนุมูลอิสระที่เกิดจากพิษของแอลกอฮอล์ (Sowjanya et al., 2021)
3.2. ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส HIV : สารออกฤทธิ์อยู่ในกลุ่ม Gallotannin ได้แก่ Ellagitannins, Geraniin และ Corilagin องค์ประกอบของสารสกัด P. amarus มีฤทธิ์ในการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสชนิด HIV-1 ได้ประมาณร้อยละ 30 ทั้งการทดสอบในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง (Notka et al., 2004)
3.3. ฤทธิ์ต้านอักเสบ ลดการเจ็บปวด และอาการบวม : สารสกัดของ P. emblica มีฤทธิ์ช่วยลดการบวมน้ำ และอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบในสัตว์ทดลองที่ได้รับสารคาราจีแนนที่กระตุ้นอาการบวมน้ำของอุ้งเท้าหนู และกรดอะซิติกที่กระตุ้นการอักเสบเยื่อบุช่องท้อง (Dang et al., 2011) เช่นเดียวกับสารสกัด P. amarus ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบผ่านกลไกการยับยั้งการหลั่งสาร PGE2 และรบกวนการทำงานของเอนไซม์ COX-2 (สุภาพร และคณะ, 2564) สอดคล้องกับการศึกษาทางคลินิกของ Roengrit และคณะที่ให้อาสาสมัครรับประทานสารสกัดลูกใต้ใบในระยะเวลาสั้น ๆ ผลการติดตามการเปลี่ยนแปลงของสารบ่งชี้ในพลาสม่าพบว่าสารสกัดลูกใต้ใบช่วยเพิ่มระดับการต้านออกซิเดชัน และป้องกันการบาดเจ็บหลังการออกกำลังกายระดับปานกลางได้ (Roengrit et al., 2015)
3.4. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ : สารสกัดรากของ P. amarus มีฤทธิ์เป็นสาร Antioxidant สามารถลดภาวะ Oxidative stress (Maity et al., 2013) จากการศึกษาของจุฑามาส และคณะพบว่าเมื่อเปรียบเทียบฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของการสารสกัดพืชสมุนไพร 16 ชนิดพบว่า ลูกใต้ใบมีประสิทธิภาพในการเป็นสารต้านอนุอิสระจากปฏิกิริยา DPPH และ ABTS radical scavenging สูงกว่าสารสกัดจากพืชชนิดอื่น (จุฑามาส และคณะ, 2018) สารสกัด P. amarus ยังประกอบด้วยสารประกอบฟีนอลซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระในปริมาณสูง เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติเพื่อป้องกันความเสียหายจากอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น (Lim et al., 2017) จากการทดลองของ Colpo และคณะที่ให้กลุ่มทดลองอาสาสมัครดื่มชา P. amarus จากนั้นติดตามผลการ เปลี่ยนแปลงสุขภาพพบว่าการดื่มชา P. amarus ส่งผลให้สารบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการต้านอนุมูลอิสระในเลือดเพิ่มขึ้น (Colpo et al., 2014) สารสกัด P. amarus ยังป้องกันเซลล์ผิวหนัง HaCaT เพาะเลี้ยงจากพิษของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ โดยพบว่าสารสกัด P. amarus ช่วยให้ % cell viability เพิ่มขึ้น และฟื้นฟูอัตราการรอดของเซลล์จากการเหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิระได้ (พรพรรณ และคณะ, 2564)
3.5. ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร : สารสกัด P. amarus สามารถลดการอักเสบและอาการเลือดออกของกระเพาะอาหารที่เกิดจากพิษของเอทานอลได้ จึงช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับเอทานอลเกินขนาด (Raphael et al., 2002)
3.6. ฤทธิ์ต้านอาการท้องเสีย : สารสกัดจากใบของ P. amarus มีส่วนในการลดการเคลื่อนตัวของอาหารในลำไส้ที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยน้ำมันละหุ่งในสัตว์ทดลอง จึงช่วยลดความถี่ในการขับถ่าย สามารถชะลอการเกิดท้องเสียและลดจำนวนครั้งที่ถ่ายได้ (Odetola et al., 2000)
3.7. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด : สารสกัดของ P. amarus มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะเบาหวานด้วย Alloxan (Lawson-Evi, 2011) สอดคล้องกับการทดสอบของ Adeneye และคณะให้อาสาสมัครดื่มสารสกัดจากใบ และเมล็ดของ P.amarus ร่วมกับสารละลายซูโครสเป็นเวลา 30 วัน โดยสารสกัดช่วยลดน้ำตาลในเลือดในกลุ่มอาสาสมัครที่ดื่มสารสกัด P.amarus ร่วมกับสารละลายซูโครส เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ดื่มสารละลายซูโครสเพียงอย่างเดียวจึงคาดว่าสารสกัดลูกใต้ใบน่าจะมีประสิทธิภาพในการลดภาวะเบาหวานได้ (Adeneye et al., 2012)
3.8. ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ : สารสกัดของ P. amarus สามารถต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสาร 2-acetaminofluorene (2-AFF), Aflatoxin B1, Sodium azide, N-methyl-N-nitro-N-Nnitroso guanidine และ 4-nitro-o-phenylenediamine เมื่อศึกษาด้วย Ames test ในสัตว์ทดลอง (Raphael et al., 2003)
3.9. ฤทธิ์ต้านเนื้องอกและต้านมะเร็ง : สารสกัด P. amarus แสดงฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้หนูเกิดเซลล์มะเร็งผิวหนังจากการเหนี่ยวนำด้วย 7, 12-dimethylbenz (a) anthracene (Sharma et al., 2019) ผลการศึกษาของ นวลน้อย และคณะพบว่าสารสกัดลูกใต้ใบมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งตับ HepG2 โดยการเข้ารบกวนการใช้ออกซิเจนของไมโตคอนเดรีย ยับยั้งการสร้าง ATP ของเซลล์ (นวลน้อย, 2556) ช่วยลดมะเร็งผิวหนังที่เกิดจากสารเคมีและความเครียดออกซิเดชัน (Sharma et al., 2011) สามารถต้านการเกิดมะเร็ง Sarcoma ในหนูที่ได้รับสารก่อมะเร็ง 20-methylcholanthrene และยืดอายุขัยของหนูที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็ง ผ่านกลไกการเข้ารบกวนขบวนการเมตาบอลิซึมของสารก่อมะเร็งตั้งต้นมิให้เปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็ง (อัจฉรา นิยมเดชา และคณะ, 2556) เช่นเดียวกับผลการวิจัยของ Hermansyah และคณะที่พบว่าสารสกัด P. amarus มีศักยภาพในการนำมาใช้พัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งสำหรับการรักษามะเร็งเต้านม (Hermansyah et al., 2023) และโครงการวิจัยทางคลินิกของ Abdel-Sattar และคณะที่ให้อาสาสมัครรับประทานสารสกัด P. amarus คู่กับยา Doxorubicin พบว่าสารสกัดลูกใต้ใบสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตเซลล์มะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ (Abdel-Sattar et al., 2023)
3.10. ฤทธิ์คุมกำเนิด : เมื่อป้อนสารสกัด P. amarus ทั้งต้นขนาด 100 มก./กก. แก่หนูเพศเมียเป็นเวลา 30 วันพบว่า มีผลเปลี่ยนแปลงระดับเอนไซม์3-beta & 17-beta hydroxy steroid dehydrogenase ทำให้หนูไม่ตั้งท้องเมื่อเลี้ยงรวมกับหนูเพศผู้ (Islam et al., 2008)
3.11. ฤทธิ์ป้องกันพิษพาราเซตามอลต่อตับ : การให้ผงลูกใต้ใบ ในขนาด 3.2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก่อนให้พาราเซตามอลเป็นเวลา 1 ชั่วโมง มีผลลดความเป็นพิษของพาราเซตามอลได้ดี ค่าเอนไซม์ SGOT และ SGPT ของตับเปลี่ยนแปลงที่กลไกการออกฤทธิ์โดยเพิ่มระดับกลูทาไทโอนในเซลล์ตับ (Wongnawa et al., 2006)
4. งานวิจัยฤทธิ์ของสมุนไพรในส่วนของผิวหนังยังมีไม่มาก ปัญหาผิวหนังนับว่าเป็นปัญหาที่ถูกละเลยอยู่มาก เนื่องจากเมื่อพูดถึงผิวหนังแล้วมักจะนึกถึงเรื่องความสวยงามเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ผิวหนังก็มีโรคและปัญหาพยาธิสภาพเช่นเดียวกับอวัยวะอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
5. ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ
6. การบรรเทาอาการและปัญหาของสุขภาพผิวหนังในเบื้องต้นย่อมเป็นแนวทางที่ดีกว่าการรอให้ปัญหาผิวหนังเกิดขึ้นแล้วทำการรักษา
7. งานวิจัยนี้พบว่า ลูกใต้ใบมีฤทธิ์ส่งเสริมการสมานแผลของเซลล์ผิวหนัง ปกป้องเซลล์จากภาวะ oxidative stress เพิ่มระดับโปรตีนโครงสร้าง รวมทั้งลดการอักเสบได้
8. อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาในเซลล์เพาะเลี้ยงที่ยังไม่ได้กระตุ้นขบวนการชรา (เลียนแบบผิวหนังที่แก่ชรา) ดังนั้นจึงยังต้องมีการศึกษาต่อยอดเพิ่มเติมต่อไป