ท้องถิ่นถือเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาภายใต้นโยบายการขับเคลื่อนโดยองค์กรและหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากสภาพปัญหาทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ท้องถิ่นซึ่งมีผู้คนในท้องถิ่นได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากวาทกรรมการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความเป็นจริงของท้องถิ่น จากการสำรวจข้อมูลทั้งในด้านนโยบาย กิจกรรม โครงการ งานวิจัย และกระบวนการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอย่างยาวนานที่ได้ใช้ท้องถิ่นเป็นพื้นที่ของการดำเนินการนั้น ในด้านหนึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าท้องถิ่นไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีหน่วยงานต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งในด้านการพัฒนา ปรับปรุง เยียวยา และต่อยอดทุนทางสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น แต่ในอีกด้านหนึ่งกระบวนการหล่านี้คือภาพสะท้อนที่สำคัญว่าท้องถิ่นต่างๆ นั้นได้ตกอยู่ภายใต้ปัญหาใหญ่น้อยและมีความหลากหลายที่แตกต่างกันออกไป

สถาบันอุดมศึกษามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจหลักในด้านการสอนหรือการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียนได้สำเร็จการศึกษาและมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์บัณฑิตที่พึงประสงค์ และนอกภารกิจดังกล่าวแล้วนั้น บทบาทของสถานศึกษายังมีหน้าที่หลักในการวิจัย การบริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งนับว่าเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากอีกสถาบันหนึ่งที่มีบทบาทด้านการพัฒนา โดยเฉพาะในที่นี้คือการพัฒนาท้องถิ่นภายใต้พันธกิจของบุคลากรในสถานศึกษา

วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านดนตรี และทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพันธกิจด้านดนตรีสู่การบูรณาการพันธกิจด้านการพัฒนาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า 50 ปี ด้วยประสบการณ์และผลงานอันเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน จึงสามารถสังเคราะห์แนวทางการพัฒนาท้องถิ่นด้วยศาสตร์ด้านดนตรีที่มีความเกี่ยวข้องกับพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษา ดังนี้

1. ด้านการสอน

เป็นการบูรณาการความรู้ทั้งที่เป็นความรู้จากข้อมูลที่ได้จากท้องถิ่นและจากความรู้ที่ติดตัวอยู่กับคนในท้องถิ่นเข้ามาให้ความรู้ในห้องเรียน และจากการนำผู้เรียนเข้าพื้นที่ไปในท้องถิ่นเพื่อศึกษาและเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ตลอดจนการส่งบัณฑิตกระจายไปตามท้องถิ่นเพื่อร่วมฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และเรียนรู้ในการเป็นบัณฑิตดนตรีที่พึงประสงค์

2. ด้านการวิจัย

เป็นการศึกษาข้อมูลความรู้จากพื้นที่เพื่อนำไปสู่การพัฒนา ต่อยอด อนุรักษ์ ส่งเสริม ตลอดจนการพัฒนาคนในชุมชนด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (R&D) โดยมุ่งเน้นการใช้งานวิจัยในการแก้ปัญหา พัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพของผู้คน โดยให้คนในชุมชนเป็นผู้ยืนเคียงข้างนักวิจัย ให้ข้อมูล เป็นผู้นำ เป็นผู้ร่วมดำเนินการวิจัย ผู้วิจัยมีบทบาทในการเป็นผู้เอื้ออำนวยความรู้หรือแบ่งปันความรู้ระหว่างกันและกัน อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ตรงตามความต้องการของท้องถิ่น

3. ด้านการบริการวิชาการ

เป็นการนำความรู้ความเชี่ยวชาญไปบริการแก่ชุมชน เพื่อพัฒนาคน พัฒนาความรู้และทักษะด้านดนตรีทั้งที่เป็นของใหม่จากมหาวิทยาลัย และของเดิมที่เป็นทุนของท้องถิ่น เชิญชวนคนในท้องถิ่นเข้ามาเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยผ่านโครงการบริการวิชาการ ตลอดรวมถึงส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรครูที่กระจายอยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้มีศักยภาพขั้นสูงด้านดนตรี เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปสู่การขยายผลในวงกว้าง เพราะครูคือหัวใจของการพัฒนาท้องถิ่น

4. ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

เป็นการดำเนินการอย่างคู่ขนานทั้งการอนุรักษ์ทุนทางวัฒนธรรมเดิมที่มีคุณค่า สืบสาน ส่งต่อและเผยแพร่ข้อมูลความรู้สู่สาธารณชน และการต่อยอดความรู้ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ภายใต้ความเข้าใจ อย่างเท่าเทียม และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม


(รูปภาพ)
การนำดนตรีไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา)