มบส. ลงสนามจัดอันดับโลก THE Ranking 2023 ครั้งแรกฯ ทะยานสู่อันดับที่ 601-800 ของโลก อันดับที่ 20 ของประเทศไทย และอันดับที่ 2 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ

ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทาง Times Higher Education ได้ประกาศผลการจัดอันดับ Impact Rankings ประจำปี 2023 มหาวิทยาลัยระดับโลกที่สร้างผลกระทบสูงต่อสังคม ซึ่งมีมหาวิทยาลัยจากทั่วโลกเข้าร่วม 1,591 แห่ง โดยการจัดอันดับดังกล่าวใช้เกณฑ์การประเมินมหาวิทยาลัยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) และในปีนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้เข้าร่วมการจัดอันดับเป็นครั้งแรก ซึ่งผลปรากฏว่า มบส.ได้รับการจัดอันดับเป็น อันดับที่ 601-800 ของโลก เป็นอันดับที่ 20 ของประเทศไทย และอันดับที่ 2 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ด้วยคะแนนรวม 62.2 คะแนน จาก 100 คะแนน ในจากการจัดอันดับครั้งนี้แสดงให้เห็นในเชิงประจักษ์ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ได้มุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมในทุกมิติตามที่ตนได้มีการประกาศเป็นนโยบาย ซึ่งได้ริเริ่มและขับเคลื่อนงานตั้งแต่ปี 2565 ตามกรอบแนวคิดขององค์การสหประชาชาติ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมีผลงานที่โดดเด่นตามเป้าหมายของ SDGs ที่เข้าร่วม โดยเป้าหมายที่ 16 Peace Justice and Strong Institution และเป้าหมายที่ 17 Partnership for Goals ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏควบคู่กับติดอันดับ Top 10 ในไทย โดยเป้าหมายที่ 17 ได้รับคะแนนประเมินสูงถึง 79.4 คะแนน จาก 100 คะแนน และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 201-300 ของโลก นอกจากนี้เป้าหมายที่ 1 No poverty อันดับที่ 10 ของประเทศ ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 201-300 ของโลก เป้าหมายที่ 4 Quality Education ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 401-600 ของโลก และเป้าหมายที่ 3 Good health and well-being ได้รับการจัดอันดับที่ 601-800 ของโลก

จากผลลัพธ์ดังกล่าวมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้จัดทำเว็บไซต์ http://sdg.bsru.ac.th เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางในการรวบรวมและนำเสนอผลงานจากคณะและหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายต่อประชาคมโลก โดยในแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี ได้มีการจัดตั้งโครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน: การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) และมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University)SDGs เพื่อสนับสนุนการศึกษารูปแบบเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ตามกรอบแนวคิด Education for Sustainable Development (ESD)

—-

ข้อมูลโดย : เครือข่ายนักประชาสัมพันธ์