มหกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ในการแสดงผลงานภาคนิทรรศการและภาคการประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยานำเสนอ ผลงานวิจัยเด่น จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
ผลงานเด่น เรื่องที่ 1 ในภาคนิทรรศการ “การพัฒนาทักษะการทำหัวสิงโตจิ๋วเพื่อสร้างอาชีพ มีกิจกรรมสาธิตการทำหัวสิงโตจิ๋ว” ซึ่งได้ผลการพัฒนาโครงการเป็น “คู่มือการทำหัวสิงโตจิ๋วเพื่อสร้างอาชีพ” (ลิงก์ https://link.bsru.ac.th/lion) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัทมา วัฒนพานิช สาขาวิชานาฏยศิลป์ศึกษา และคณะ โครงการการสร้างหัวสิงโตจิ๋วเพื่อสร้างอาชีพ ประกอบด้วย เนื้อหาประวัติความเป็นมาของสิงโตฝั่งธนบุรี อุปกรณ์การทำหัวสิงโตจิ๋ว และขั้นตอนการทำหัวสิงโตจิ๋ว เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนฝั่งธนบุรี ใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนาอาชีพงานหัตถศิลป์ การพัฒนาทักษะฝีมือการประดิษฐ์หัวสิงโตจิ๋วดั้งเดิมจากวัสดุธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รังสรรค์ด้วยไม้ไผ่อย่างประณีต ถอดลวดลายโบราณจากเมืองฝอซาน ที่เข้ามาแพร่ในสมัยธนบุรีสืบมา ใช้สีสันที่สื่อความหมายเป็นมงคล โดยท่านที่สนใจสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้จากคู่มือนี้
ผลงานเด่น เรื่องที่ 2 ในภาคนิทรรศการ โครงการการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์บนฐานอัตลักษณ์ชุมชนกุฎีจีน แขวงกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร (ลิงก์ https://link.bsru.ac.th/Kudichin) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ สิงห์ขจร สาขาวิชาการสื่อสารดิจิทัลคอนเทนต์ คณะวิทยาการจัดการ และคณะ นำเสนอผลงานวิจัย 1) การพัฒนาอัตลักษณ์ ของชุมชนกุฎีจีนผ่านบทเพลงลูกกุฎีจีน 2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ ของชุมชนกุฎีจีน และ 3) การพัฒนาช่องทางการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวบนอัตลักษณ์ ของชุมชนกุฎีจีน “กุฎีจีน” เป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีวัฒนธรรมของชนชาติอื่นมาผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยได้อย่างลงตัว มีเอกลักษณ์ที่ชุมชนอื่นไม่สามารถเลียนแบบได้ ได้แก่ โบสถ์ซางตาครู้ส โบสถ์ศาสนาคริสต์ เป็นศูนย์กลางชุมชม ขนมกุฎีจีน ที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมชาวจีนกับชาวโปรตุเกส นักวิจัยใช้ทรัพยากรด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และวิถีการผลิตของชุมชน มาใช้เป็นต้นทุนหรือปัจจัยในการจัดการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม ทำให้ชุมชน มีช่องทางการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยว มีผลิตภัณฑ์ และบทเพลง ที่มีอัตลักษณ์ของชุมชนกุฎีจีน โดยโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก มรภ.-วช.
ผลงานเด่น เรื่องที่ 3 ในภาคการประชุม การพัฒนาชุดความรู้ด้านวิทยาการคำนวณ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิดารัตน์ ตันนิรันตร์ กลุ่มวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ เป็นการใช้ชุดความรู้ด้านวิทยาการคำนวณ พร้อมสื่อการเรียนรู้สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น ผลคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ผลคะแนนเจตคติต่อการเรียนมีค่าอยู่ในระดับดี และผลการประเมินความเหมาะสมด้านการออกแบบ ด้านองค์ประกอบและเนื้อหา มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด จนสามารถนำไปเผยแพร่กับครูจำนวน 50 โรงเรียน โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
มหกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2556 ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ บูธ CM1 ชั้น 22 (ภายใต้ธีม งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์) และภาคการประชุมในวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ห้อง Lotus 14 ชั้น 23 โรงแรมเซนทาราแกรน บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ท่านจะได้พบกับการแสดงผลงานนิทรรศการ และกิจกรรมที่น่าสนใจ ต่างๆ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานเครือข่าย
ลงทะเบียนร่วมงานได้ที่นี่ https://researchexporegis.com