พลังงานสะอาด มันคืออะไรกัน

พลังงานสะอาด เป็นพลังงานที่ได้จากทรัพยากรทางธรรมชาติหรือเป็นกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นได้ซ้ำ ๆ อย่างไม่จำกัด พลังงานสะอาดก็ถือเป็นพลังงานแห่งอนาคตหรือพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่สร้างผลกระทบ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศเหมือนพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างกระบวนการผลิต อย่าง การแปรรูป การใช้ประโยชน์ ไปจนถึงการจัดการของเสีย จะมีบ้างแต่ก็น้อมมาก จึงทำให้พลังงานสะอาดกลายมาเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ที่มีความสำคัญมากในปัจจุบัน และมีส่วนสร้างเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต

แหล่งพลังงานสะอาด

พลังงานสะอาด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พลังงานที่มาจากธรรมชาติ เช่น ลม น้ำ แสงแดด ความร้อนใต้พิภพ ส่วนพลังงานสะอาดอีกประเภท ก็คือพลังงานที่มนุษย์สามารถสร้างขึ้นเองได้ เช่น พลังงานขยะ พลังงานชีวภาพ และ พลังงานชีวมวล ที่ผลิตได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ข้าวโพด ชานอ้อย ฟางข้าว และอีกมากมาย รวมถึงภาคปศุสัตว์ เช่น มูลสัตว์ โดยแหล่งพลังงานสะอาดที่สำคัญมีดังนี้

1.พลังงานน้ำ (Hydro)

พลังงานน้ำเป็นพลังงานทดแทนจากธรรมชาติที่สร้างขึ้น โดยได้จากอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน ซึ่งอาศัยหลักการเคลื่อนที่ของน้ำที่จะเคลื่อนที่จากที่สูงลงที่ต่ำ โดยในขั้นตอนแรกเป็นการกักเก็บน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนเพื่อสะสมพลังงานศักย์ไว้ และเมื่อได้ปริมาณน้ำตามที่ต้องการแล้ว ขั้นต่อไปก็ทำการเปิดประตูน้ำให้น้ำไหลออกมาเพื่อหมุนใบพัดของกังหันน้ำ เพื่อไปปั่นเครื่องปั่นไฟฟ้า(เครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ในโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เป็นพลังงานจลน์ จนสุดท้ายก็ได้พลังงานไฟฟ้ามา สำหรับประเทศไทยแล้ว พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากน้ำ (Hydroelectricity) ถือเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้มากกว่าพลังงานรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งอยู่ตามเขื่อนกักเก็บน้ำใหญ่ๆ

รูป1ที่มา: https://pdf.erc.or.th/Multimedia/Detail/34

2.พลังงานลม (Wind)

พลังงานลมก็เป็นหนึ่งที่สะอาดที่ใช้แล้วไม่หมดไป และหลากหลายประเทศทั่วโลกนิยมใช้ อย่างเช่น ประเทศจีน ซึ่งเราสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากลมได้ด้วยการใช้กังหันลม ที่เปลี่ยนจากพลังงานจลน์ที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของลมที่หมุนตามแรงลม จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นพลังงานกลเพื่อใช้ในการหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเปลี่ยนพลังงานกลไปเป็นพลังงานไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่ง โดยส่วนใหญ่มักผลิตได้ตามพื้นที่เนินเขา ภูเขาในพื้นที่ห่างไกล หรือชายฝั่งทะเล ซึ่งมีลมทะเลและลมนอกชายฝั่ง ปัจจุบันอาจพบในรูปแบบของทุ่งกังหันลม แต่สำหรับในประเทศไทย มีอุปสรรคในด้านของความเร็วลม จึงทำให้ยังไม่สามารถนำศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากพลังงานลมมาใช้อย่างเต็มที่

รูป2ที่มา: https://ngthai.com/environment/35301/wind-energy/

3.พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar)

พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาดที่ใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีมากที่สุดของโลก และยังสามารถใช้ได้ทุกสถานที่ที่แสงแดดนั้นไปถึง การแปรรูปพลังงานจากระบบโซลาร์เซลล์ที่ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีตั้งแต่ระบบโซลาร์รูฟหรือติดตามหลังคาบ้านเรือน ที่นิยมใช้ในระดับครัวเรือนไปจนถึงระบบโซลาร์ฟาร์มหรือโรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ และพลังงานแสงอาทิตย์ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นพลังงานความร้อนได้ที่นอกเหนือจากพลังงานไฟฟ้า

รูป3ที่มา: https://webkc.dede.go.th/testmax/node/5389

4.พลังงานชีวภาพ/พลังงานชีวมวล (Biogas/Biomass)

พลังงานชีวภาพและพลังงานชีวมวลเป็นพลังงานที่ได้มาจากการแปรรูปวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร เช่น ข้าวโพด ชานอ้อย ฟางข้าว อื่นๆ รวมถึงภาคปศุสัตว์ เช่น มูลสัตว์ ให้เป็นพลังงานแก๊สและพลังงานไฟฟ้า จากการแปรรูปวัตถุชีวภาพตั้งแต่การเผา การผลิตก๊าซ ไปจนถึงการหมักผลผลิตทางการเกษตรและมวลสารของสิ่งมีชีวิตที่เหลือไม่ได้ใช้ประโยชน์ ด้านดีของพลังงานชีวภาพไม่เพียงช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนแล้ว ยังช่วยสนับสนุนเกษตรกรให้มีรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย

รูป4ที่มา: https://sites.google.com/a/nmrsw2.ac.th/renewable-energy/home/phlangngan-chiwphaph-laea-chi

5.พลังงานใต้พื้นพิภพ (Geothermal)

พลังงานใต้พื้นพิภพ เป็นพลังงานที่ได้จากการนำความร้อนที่โดนกักเก็บไว้ใต้ชั้นผิวโลก ซึ่งอาจเกิดจากการสลายตัวของสารกัมมันตภาพรังสี อย่างเช่น โพแทสเซียม ยูเรเนียม ทอเรียม ฯลฯ ในชั้นเปลือกโลก ซึ่งนำมาใช้เป็นการผลิตพลังงานทดแทน ที่นิยมในการสร้างพลังงานคือการใช้แรงจากไอน้ำแรงดันสูงที่สะสมอยู่ใต้ชั้นหินของผิวโลก ไอน้ำจะไปหมุนกังหันสร้างเป็นพลังงานให้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จนได้เป็นพลังงานไฟฟ้าออกมา

รูป5ที่มา: https://tuemaster.com/blog/พลังงานความร้อนใต้พิภพ/

รูป6ที่มา: https://www.thaipost.net/ptt/169665/