เอ็นโดแคนนาบินอยด์ (Endocannabinoid System หรือ ECS)

หากกล่าวถึงชื่อของระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ (Endocannabinoid System หรือ ECS) คนส่วนมากอาจยังไม่คุ้นชินกับชื่อของระบบนี้มากนัก แต่แท้ที่จริงแล้ว ECS มีอยู่ในร่างกายของทุกๆ คน และมีความสำคัญไม่ต่างกับระบบอื่นๆ ในร่างกายเลย ECS ถูกเริ่มต้นค้นพบในปี ค.ศ. 1990 เป็นระบบทางสรีรวิทยา กระจายอยู่ทุกส่วนของอวัยวะต่าง ๆ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ เช่น ระบบสมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบผิวหนัง ระบบข้อและกระดูก ระบบหายใจ เป็นต้น เพื่อที่จะรักษาสมดุลของร่างกายให้ทำงานได้อย่างปกติ ECS ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 

1. สารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้นเอง (Endocannabinoids)

ได้แก่ Anandamide (AEA) และ 2-Arachidonoyl glycerol (2-AG)  

2. ตัวรับสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid Receptors หรือ CB) CB receptors

แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

2.1 Cannabinoid Receptor Type 1 (CB1) พบมากที่ระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง และยังพบได้ใน ตับ ปอด เป็นต้น

2.2 Cannabinoid Receptor Type 2 (CB2) พบมากที่ระบบภูมิคุ้มกัน และพบกระจายในระบบผิวหนัง ม้าม เป็นต้น CB receptors ทำหน้าที่จับกับสารแคนนาบินอยด์ 3 ชนิดหลัก ดังนี้
-สารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้นเอง
-แคนนาบินอยด์จากพืช (Phytocannabinoids) ซึ่งมี THC และ CBD เป็นสารสำคัญที่แยกจากพืชสกุล Cannabis
-แคนนาบินอยด์สังเคราะห์  

3. เอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างและสลายสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์

การทำงานของ ECS จะเกิดขึ้นเมื่อสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้นจับกับ CB1 และ CB2 ที่อวัยวะนั้น ๆ จากนั้นจะส่งสัญญาณทำให้เกิดการออกฤทธิ์ต่ออวัยวะ เมื่อสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ทำหน้าที่เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จะถูกสลายด้วยเอนไซม์อย่างรวดเร็ว เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย และเมื่อร่างกายต้องการใช้จะถูกเอนไซม์สร้างขึ้นมาใหม่ ไม่มีการสร้างสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์มาเก็บสะสมไว้ เป็นวัฏจักรเช่นนี้ ซึ่งสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์นี้จะถูกสร้างจากโอเมก้า-6 (Omega-6) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fatty Acids) [1] หากร่างกายเกิดความเครียดเรื้อรังหรือได้รับอาหารสำเร็จรูปที่มีโอเมก้า-6 มากเกินไป จะส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์และกระทบต่อการทำงานของ ECS ได้ [1] การบริโภคอาหารที่มีโอเมก้า-6 มากเกินไป จะเกิดการอักเสบต่อร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคต่าง ๆ ได้ ในขณะที่การบริโภคโอเมก้า-3 จะช่วยลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ลดการเกิดหลอดเลือดอุดตัน ป้องกันความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ เพื่อให้ร่างกายได้ประโยชน์สูงสุดจึงควรบริโภคอาหารที่สมดุลระหว่างโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 ดังนั้นจึงควรให้ความใส่ใจในการเลือกบริโภคอาหารมากยิ่งขึ้น [2]

ตัวอย่างพืชสมุนไพรที่เป็นแหล่งทั้งโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 เช่น  

1. ถั่วดาวอินคา: ดาวอินคา (Sacha peanut หรือ Mountain peanut) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Plukenetia volubilis L. เป็นพืชในวงศ์เดียวกับยางพารา หรือสบู่ดํา ส่วนผลมีรูปร่างคล้ายดาว ภายในผลมีเมล็ดคล้ายถั่ว จึงนิยมเรียก ถั่วดาวอินคา ชาวเปรูนิยมใช้ถั่วดาวอินคาเป็นอาหารและยารักษาโรคที่มีมายาวนาน น้ำมันที่ได้จากเมล็ดถั่วดาวอินคา มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่สำคัญ ถูกนํามาใช้ในเครื่องสําอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร [3]  

ถั่วดาวอินคา (ที่มา: https://www.ifit4health.com/2016/11/28/) 

2. งาม้อนหรืองาขี้ม้อน : มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Perilla frutescens เป็นพืชสกุลมิ้นต์ นิยมปลูกมากทางตอนเหนือของไทย เป็นพืชน้ำมันที่โดดเด่นด้านคุณค่าทางโภชนาการ น้ำมันงาม้อนมีปริมาณกรดไขมันโอเมก้า-3 สูงที่สุด ซึ่งสูงกว่าน้ำมันจากพืชทุกชนิด และสูงกว่าน้ำมันปลาประมาณถึง 2-3 เท่าตัว [4]

งาม้อน (ที่มา: https://www.hrdi.or.th/articles/Detail/9) 

3. เมล็ดเจีย (Chia seed) : มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Salvia hispanica L. เป็นพืชล้มลุก มีแหล่งกำเนิดจากทางตอนใต้ของเม็กซิโก เมล็ดถูกใช้เป็นอาหารหลักในแถบอเมริกากลาง ในสมัยก่อนนักวิ่งในระยะทางไกลๆ และนักรบในระหว่างการทำสงคราม จะใช้เมล็ดเจียเป็นอาหารสร้างพลังงานหรือ เปรียบเสมือนเป็น runner’s food เป็นพืชที่มี alpha-Linoleic acid สูง อย่างไรก็ตามผู้ที่มีภาวะเลือดแข็งตัวช้าหรือผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดควรงดรับประทานเมล็ดเจีย [5] 

เมล็ดเจีย (ที่มา: https://www.123rf.com/)

4. เมล็ดแฟลกซ์ (Flaxseed) : ได้จากต้นแฟลกซ์ (Flax) หรือต้นลินิน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Linum usitatissimum L. เมล็ดมีขนาดเล็ก มีสีน้ำตาลหรือสีทอง และพบสารลิกแนน (Lignan) สูง มีสรรพคุณยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย [6]

เมล็ดแฟลกซ์ (ที่มา: https://pixabay.com)

เรียบเรียงโดย: โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุมาลี นามดวง อาจารย์ประจำสาขาวิชาสมุนไพรและกัญชาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 📄 References  

1. อิสระ เจียวิริยบุญญา, ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, บัญชา สุวรรณธาดา และพงษ์ศักดิ์ สง่าศรี. (2562). กัญชาช่วยรักษามะเร็ง. กรุงเทพฯ: มายด์ รีพับบลิก.  

2. กรุงเทพธุรกิจ. (2565). “ไขมันโอเมก้า 3″ และ”โอเมก้า 6” ถ้ากินให้สมดุล ไม่ป่วย ต้องกินอย่างไร. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/health/1022140  

3. สุภัคชนม์ คล่องดี. (2562). น้ำมันถั่วดาวอินคา: แหล่งไขมันโอเมก้าจากพืช. วารสารอาหาร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 49(4), 22-28. http://158.108.94.117/Public/PUB0881.pdf  

4. มหาวิทยาลัยพะเยา. (2560). งาม้อนพืชอัจฉริยะแห่งล้านนา. สืบค้นจาก http://www.up.ac.th/…/TH_EN_PKY_%E0%B8%95%E0%B8%84_%E0…  

5. ทศพร นามโฮง. “เมล็ดเจีย” การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเมล็ดเจียและประโยชน์เพื่อสุขภาพ. สืบค้นจาก http://fic.nfi.or.th/…/upload/research_article/file15.pdf  

6. ศัลยา คงสมบูรณ์เวช อิสระพร บวรเกิด และทิพย์สริน ชวลิตมณเฑียร. (2563). มหัศจรรย์อาหารชะลอวัย. สืบค้นจาก http://www.amarinbooks.com/…/mahatsajan-ahan-charawwai.pdf  

#ศุกร์สมุนไพร #ความรู้สมุนไพร #หลักสูตรสมุนไพรและกัญชาศาสตร์ #BSRU #ความสำคัญของโอเมก้าในพืชสมุนไพรกับสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์