มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา นำองค์กรก้าวเข้าสู่ Green University พัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมสร้างเครือข่าย ให้ความสําคัญการแบ่งปันความคิดและสนับสนุนนวัตกรรม เพื่อพัฒนางานวิจัยและวิชาการอย่างเต็มที่
ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) เปิดเผยว่า จากความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ในปี 2022 ตนจึงได้มอบหมายให้ ผศ.ดร.หนึ่งฤทัย เอกธรรมทัศน์ ผู้ช่วยอธิการบดี มบส. ไปดำเนินการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสีเขียวตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก (UI GreenMetric World University Rankings) สถาบันจัดอันดับสถาบันการศึกษาสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับโลก ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะการจัดอันดับมหาวิทยาลัยด้านความยั่งยืนระดับโลกแห่งแรกและแห่งเดียว ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (University of Indonesia : UI) ซึ่งเริ่มต้นการจัดอันดับมาตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยทั่วโลกเข้าร่วมการจัดอันดับ จำนวน 959 สถาบัน
ผศ.ดร.ลินดา กล่าวต่อไป มบส.ยังได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงานและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยบูรณาการอนุรักษ์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการเรียนการสอน การวิจัย และทุกกิจกรรมตามแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน, การจัดการการใช้พลังงาน, การจัดการของเสีย, การใช้ทรัพยากรน้ำ, การจัดการระบบการขนส่งภายใน และการให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นสถานที่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของบุคลากร นักศึกษา และชุมชน เกิดการทำงานในบรรยากาศที่มีความปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอันก่อให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนของชาติ นอกจากนี้การดำเนินโครงการ Green University จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่ช่วยทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ.2065 ตามนโยบายของการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
“เมื่อเร็ว ๆนี้ ดิฉันยังได้ลงนามในประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เรื่อง นโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals (SDGs)) และการพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ตามหลักการพัฒนาของสหประชาชาติ เพื่อให้การขับเคลื่อนการดําเนินงานของมหาวิทยาลัย บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals (SDGs)) 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ ภายในปี พ.ศ.2573 โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน และสันติสุข ที่โลกกําลังเผชิญอยู่และเพื่อส่งเสริมแนวคิด “ไม่เป็นการทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่สำคัญส่งเสริมให้คณะและหน่วยงานสร้างความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา เนื่องจากโลกยุคปัจจุบันที่มีการเชื่อมต่อกันมากขึ้นและมหาวิทยาลัยไม่สามารถอยู่ได้โดยลําพัง จึงต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือ รวมถึงการให้ความสําคัญกับการแบ่งปันความคิดและสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อพัฒนางานวิจัยและวิชาการจากทุกภาคส่วนทั่วโลกให้เติมโตอย่างยั่งยืนด้วย” ผศ.ดร.ลินดา กล่าว .