๑.   หลักการและเหตุผล

การวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและเศรษฐกิจได้โดยการสร้างความรู้ใหม่ แนวทางใหม่ ทฤษฎีใหม่ หรือชิ้นงานใหม่ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างฐานสติปัญญาในการพัฒนาให้กับประเทศได้ และหากนำไปสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้ก็จะก่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งอาจเป็นตัวเงิน หรือไม่เป็นตัวเงินโดยตรงก็ได้ ดังนั้นการพัฒนาให้ผลงานที่เกิดจากการวิจัย และงานที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นได้ถูกนำไปพัฒนาปรับปรุง ให้นำไปสู่นวัตกรรมก็จะสามารถสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ (Economic Benefits) ขึ้นมาได้ในปัจจุบัน แม้ว่าผลงานวิจัย/ผลงานประดิษฐ์คิดค้นของไทยจะมีความก้าวหน้า และได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการลงทุนด้านนี้มากขึ้นหากแต่การส่งเสริมให้เกิดความรู้ และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Knowledge and Creativity Idea) อย่างจริงจังยังอาจไม่เพียงพอ ทำให้ส่วนหนึ่งผลงานอาจเป็นการไปทำซ้ำหรือลอกเลียนงานจากต่างประเทศได้ ดังนั้น การสร้างช่องทางให้นักวิจัยหรือนักประดิษฐ์ไทยได้มีโอกาสไปพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิจัย/นักประดิษฐ์ต่างประเทศ อาจเป็นกลไกหนึ่งที่น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ไม่มากก็น้อย เนื่องจาก

๑.     นักวิจัย/นักประดิษฐ์ไทย ได้รับทราบผลงานของต่างประเทศที่มีการคิดค้นพัฒนาขึ้นแล้ว

๒.   นักวิจัย/นักประดิษฐ์ไทย สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาพัฒนาผลงานให้สอดคล้องและเป็นประโยชน์กับวัฒนธรรม/วิถีชีวิตของไทย แต่สามารถทัดเทียมนานาชาติได้ในเวลาเดียวกัน

๓.     เป็นช่องทางทางการตลาดให้กับผลงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจของประเทศได้

 

จากความสำคัญในการสร้างช่องทางให้นักวิจัย/นักประดิษฐ์ไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับนักวิจัย/นักประดิษฐ์ต่างประเทศข้างต้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผลงานวิจัย/ผลงานประดิษฐ์คิดค้นสามารถนำไปพัฒนาให้เกิดการสร้างมูลค่า/คุณค่าอันเป็นประโยชน์กับประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดให้มีกิจกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักวิจัย/นักประดิษฐ์ไทยได้นำผลงานวิจัย/ผลงานประดิษฐ์คิดค้นไปร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีนานาชาติต่างๆ ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรมมาตลอดระยะเวลา ๘ ปีที่ผ่านมาซึ่งปรากฏผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่งในด้านต่างๆตามวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีกิจกรรมดังกล่าว จึงเห็นควรส่งเสริมให้มีโครงการส่งเสริมผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์สู่เวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

๒. วัตถุประสงค์

๒.๑ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัย/ผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่มีศักยภาพในเวทีระดับสากล

๒.๒ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย/ด้านการประดิษฐ์คิดค้น กับองค์กรนานาชาติ

๒.๓ เพื่อขยายผล/เปิดโอกาสในการหาช่องทางการตลาดให้ผลงานวิจัย/ผลงานประดิษฐ์คิดค้นของไทยโดยผ่านการนำเสนอในเวทีนานาชาติ

 

๓. สถานที่จัดงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓

๓.๑    งาน “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New products” (iENA 2019)

                   ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ ๓๑ ตุลาคม – ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ 

๓.๒    งาน “Seoul International Invention Fair 2019” (SIIF 2019)

                   ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ ๒๗ – ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

๓.๓    งาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva”

ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๓

๓.๔    งาน “The International British Innovation, Invention & Technology Exhibition London” (IBIX 2020) (ปิดรับสมัครชั่วคราว)

ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๓ – ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓

๓.๕    งาน “The 11th International Exhibition of Inventions” (IEI 2020)

ณ เมืองฝอซาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงเดือนกันยายน ๒๕๖๓

 

๔. ขอบเขตการดำเนินงาน

เป็นกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนให้นักวิจัย นักประดิษฐ์ไทย มีโอกาสได้นำเสนอผลงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิดค้นในเวทีนานาชาติ มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัย/ด้านการประดิษฐ์คิดค้นกับองค์กรนานาชาติเพื่อการพัฒนาหรือขยายผลงานวิจัย/ผลงานประดิษฐ์คิดค้นของนักวิจัย/นักประดิษฐ์ไทยให้ไปสู่ระดับสากล

 

๕. ระยะเวลาดำเนินงาน

ตุลาคม  ๒๕๖๒ – กันยายน  ๒๕๖๓

 

๖. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

๑. ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ผลงานวิจัย และนวัตกรรมของนักวิจัย/นักประดิษฐ์ไทยได้เผยแพร่สู่การใช้ประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายในเวทีระดับสากล

๒. นักประดิษฐ์คิดค้นและนักวิจัย ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านการวิจัย การประดิษฐ์และการผลิตนวัตกรรมต่อสาธารณชนในระดับนานาชาติ

๓. เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นระหว่างประเทศไทยกับองค์กรด้านการประดิษฐ์ในระดับสากล

—————————————

 

 

 

คู่มือการส่งผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมร่วมประกวดในเวทีนานาชาติ

 

 

แบบตอบรับเข้าร่วมงาน วช. (ภาษาไทย) ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓ 

 

แบบฟอร์มจัดทำทำเนียบผู้เดินทาง