ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินการจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะ ๕ ปี พ.ศ.๒๕๕๙ – ๒๕๖๒ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา “มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเป็นสถาบันชั้นนำแห่งการเรียนรู้ในการผลิตพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การดนตรี อุตสาหกรรมบริการ วิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล” มีพันธกิจหลักในการดำเนินงาน ๕ ประการ ได้แก่
๑. พัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ให้มีการบูรณาการความเชี่ยวชาญของสาขาวิชาต่างๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
๒. พัฒนาองค์ความรู้บนพื้นฐานของการวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมการทำงานและการผลิต และการผลิตบัณฑิต
๓. เป็นศูนย์กลางการบริการวิชาการและองค์ความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นและชุมชน
๔. อนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยสู่สากล และ
๕. บริหารจัดการมหาวิทยาลัยด้วยหลักธรรมาภิบาล และกำหนดอัตลักษณ์ของบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา “บัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยามีจิตสาธารณะ ทักษะสื่อสารดี และมีความเป็นไทย”

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้กำหนดกลยุทธ์ที่ ๑ ผลิตบัณฑิตที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นบนพื้นฐานของมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศใน ๔ ด้าน รายละเอียดดังนี้
๑. การผลิตบัณฑิตครู มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการด้านคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์และภาษาไทย
๒. การผลิตบัณฑิตทางดนตรี มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการด้านดนตรีไทย และ ดนตรีตะวันตก
๓. การผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการด้านการแพทย์แผนไทยเทคนิคการแพทย์สาธารณสุขศาสตร์และอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
๔. การผลิตบัณฑิตทางอุตสาหกรรมบริการ มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ ด้านการบัญชีการโฆษณาและธุรกิจบันเทิงการท่องเที่ยวและคหกรรมศาสตร์

    นโยบายการศึกษาของประเทศที่ต้องการผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษามุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยและงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคม และชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการเรียนการสอนและการผลิตบัณฑิตเพื่อพัฒนาสังคม ประกอบกับประกาศ ก.พ.อ. หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ครอบคลุมผลงานทางวิชาการที่อาจารย์ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาของตน มาใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชน สังคม หรือประเทศ จึงได้กำหนดเป็นพันธกิจหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา คือพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม โดยที่ Engagement Thailand ได้กำหนดความหมายของ “University Engagement” ไว้ดังนี้ การทำงานเชิงวิชาการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับสังคมในพันธกิจหลักทุกด้านของมหาวิทยาลัย บนหลักการพื้นฐาน ๔ ประการ ได้แก่
๑. ร่วมคิดร่วมทำแบบหุ้นส่วน (Partnership)
๒. เกิดประโยชน์ร่วมกันแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Mutual Benefit)
๓. มีการใช้ความรู้และเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน (Scholarship) และ
๔. เกิดผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้ (Social Impact)ทางมหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดกลยุทธ์ที่ ๔ คือการให้บริการวิชาการตามความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น ในด้านที ๓ คือการบริการวิชาการตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่น และด้านที่ ๔ คือการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัย

    มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนกลยุทธ์ระยะ ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๒ และพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม (University Community Engagement) ประกอบกับเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของสภามหาวิทยาลัย ที่ประชุมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย รองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดีจึงได้มีมติให้จัดทำโครงการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยขึ้นโดยให้ครอบคลุมด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ซึ่งเป็นด้านที่มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นอย่างยาวนานและด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและอุตสาหกรรมบริการซึ่งมหาวิทยาลัยมีความพร้อมและศักยภาพที่โดดเด่นในปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหน่วยงานกลางของมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่เป็นประตูในการเชื่อมโยง ประสานความรู้ ความเชี่ยวชาญ และรวบรวมองค์ความรู้ของคณาจารย์และนิสิต นักศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสิตในสาขาวิชาที่เป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นการบริการวิชาการแก่สังคมให้สมกับที่เป็นสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย

๑. เพื่อพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัย

๒. เพื่อเป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมทางวิชาการ การวิจัย การประชุมทางวิชาการ และการให้บริการวิชาการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

๓. เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรทั้งภายในและภายนอกระดับชาติและนานาชาติ

๔. เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลความเป็นเลิศตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศทางวิชาการของมหาวิทยาลัยให้แก่สังคมผ่านทางเว็บไซต์